ข่าวดาราศาสตร์


อดีตยานของโซเวียตที่ล้มเหลวในการเดินทางไปยังดาวศุกร์
จะตกกลับมายังโลก ภายในสัปดาห์นี้

ยานสำรวจดาวศุกร์คอสมอส 482 ของโซเวียต คาดว่าจะตกลงสู่พื้นผิวโลกภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นยานที่ล้มเหลวในการเดินทางไปยังดาวศุกร์ตั้งแต่ในยุคสมัยสงครามเย็น และโคจรอยู่รอบโลกนานกว่า 53 ปี

Screenshot 2568 05 07 at 10.02.10

ยานคอสมอส 482 (Kosmos 482) ของอดีตสหภาพโซเวียตถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1972 เป็นยานสำหรับลงจอดบนพื้นผิวดาวศุกร์ แต่ระหว่างเดินทาง ยานไม่สามารถออกจากวงโคจรระดับต่ำรอบโลกได้ และแยกออกเป็นชิ้นส่วนหลายชิ้น ซึ่งชิ้นส่วนใหญ่ ๆ รวมถึงยานลงจอด ยังคงค้างอยู่ในวงโคจรรอบโลกมานาน 53 ปีจนถึงปัจจุบัน

Orbital 1
*ภาพถ่ายแสดงยานคอสมอส-482 เมื่อปี ค.ศ.2011 โดย Ralf Vandebergh 

สาเหตุเกิดจากจรวดท่อนบนของจรวดโซยุซ (Soyuz) ที่ใช้ส่งยานไปยังดาวศุกร์ได้หยุดการทำงานก่อนกำหนด ทำให้ยานถูกทิ้งค้างไว้ในวงโคจรรอบโลก ซึ่งล่าสุด Marco Langbroek นักติดตามดาวเทียมในห้วงอวกาศรอบโลกชาวเนเธอร์แลนด์ พบว่ายานลำนี้อาจจะตกลงสู่โลกแบบไร้การควบคุมในช่วงวันที่ 9-10 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 หลังจากการติดตามชิ้นส่วนยานลำนี้ด้วยกล้องโทรทรรศน์มาหลายปี

ยานทนความร้อนที่จะตกกลับสู่โลก

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตกกลับสู่โลกของยานคอสมอส 482 คือ ยานลงจอดที่ออกแบบให้สามารถฝ่าบรรยากาศหนาทึบของดาวศุกร์ อาจสามารถรอดจากการฝ่าบรรยากาศโลกที่เบาบางกว่าบรรยากาศดาวศุกร์ได้ นั่นหมายความว่า ยานอาจไม่ได้ถูกเผาไหม้ไปจนหมดในชั้นบรรยากาศโลก สามารถฝ่าชั้นบรรยากาศและตกลงสู่พื้นผิวโลกในที่สุด

ยานคอสมอส 482 เป็นยานสำรวจดาวศุกร์ที่เป็นฝาแฝดกับยานเวเนรา 8 (Venera 8) ของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเวเนรา 8 เป็นยานสำรวจลำที่ 2 ที่สามารถลงจอดบนพื้นผิวดาวศุกร์ โดยถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1972 ก่อนลงจอดสำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน และส่งข้อมูลกลับมายังโลกนาน 50 นาที ก่อนที่จะยุติการทำงานจากสภาพแวดล้อมโหดร้ายบนดาวศุกร์

ขณะที่ ยานคอสมอส 482 ที่เป็นยานฝาแฝด ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศหลังยานเวเนรา 8 เพียง 4 วัน เมื่อออกจากวงโคจรรอบโลกไม่สำเร็จ ก็กลายเป็นขยะอวกาศอยู่รอบโลกและค่อย ๆ ลดระดับลงมา โดยชิ้นส่วนของยานที่ค้างอยู่ในวงโคจรรอบโลกเป็นยานลงจอดที่มีมวล 495 กิโลกรัม และสามารถทนต่อความร้อนสูงในการพุ่งฝ่าบรรยากาศหนาทึบได้

การตกลงสู่โลกของยานคอสมอส 482

รายละเอียดข้อมูลว่าชิ้นส่วนยานคอสมอส 482 จะตกลงสู่โลก ณ พื้นที่ใดและเวลาไหนยังไม่เป็นที่แน่ชัด พอจะประมาณการได้เพียงว่าภายในไม่เกินสัปดาห์นี้ โดยข้อมูลที่ทาง Langbroek ทราบคือ ระนาบวงโคจรของยานเอียงจากระนาบเส้นศูนย์สูตรโลกเป็นมุม 51.7 องศา ดังนั้น ยานสามารถตกลงมาสู่พื้นผิวโลกได้ในบริเวณระหว่างละติจูด 52 องศาเหนือ - 52 องศาใต้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทวีปแอฟริกา, อเมริกาใต้, ออสเตรเลีย, สหรัฐฯ ทั้งหมด, ส่วนหนึ่งของแคนาดา ยุโรปและเอเชีย

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทาง Langbroek ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน Dominic Dirkx ได้พัฒนาแบบจำลองเชิงทฤษฎีในคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการตกของยานคอสมอส 482 ใน TUDAT (TU Delft Astrodynamics Toolbox) ฐานข้อมูลแบบเปิดของซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการวิจัยด้านกลศาสตร์การโคจรและอวกาศ ที่พัฒนาและจัดการโดยคณะวิศวกรรมการบินอวกาศ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ (TU Delft) ในเนเธอร์แลนด์ ที่ Langbroek ทำงานอยู่

ทาง Langbroek รายงานว่า แม้ยานลงจอดบนดาวศุกร์ลำนี้จะมีร่มชูชีพสำหรับใช้กางเพื่อชะลอความเร็วของยานในบรรยากาศดาวศุกร์ แต่เขาไม่คิดว่าร่มชูชีพอันนี้จะใช้งานได้แล้วในปัจจุบัน จึงมองว่าหากยานรอดจากการพุ่งฝ่าบรรยากาศโลก ยานจะตกลงมาพุ่งชนถึงพื้นผิวโลก และในแบบจำลองของเขาพบว่าความเร็วท้ายสุดที่ระดับพื้นผิวโลกในการตกลงมาของยาน อยู่ที่ประมาณ 65-70 เมตร/วินาที ซึ่งชิ้นส่วนยานที่ตกลงมามีมวลเกือบ 500 กิโลกรัม และมีขนาดความกว้าง 1 เมตร ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อประชาชนจึงใกล้เคียงกับอุกกาบาตโดยทั่วไป ที่ถือว่าน้อยนิดมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นศูนย์

แปลและเรียบเรียง: พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง: https://www.space.com/space-exploration/...