ข่าวดาราศาสตร์
นักดาราศาสตร์พบ "3I/ATLAS"
วัตถุจากนอกระบบสุริยะดวงที่สามในประวัติศาสตร์
วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2025 ที่ผ่านมา ทีมนักดาราศาสตร์จากเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ค้นพบวัตถุคล้ายดาวหาง C/2025 N1 (ATLAS) โดยดาวหางดวงนี้มาจากทิศทางของกลุ่มดาวคนยิงธนู ต่อมามีการยืนยันจากการคำนวณวงโคจรของวัตถุนี้ พบว่ามีต้นกำเนิดจากนอกระบบสุริยะ นับเป็นวัตถุนอกระบสุริยะ (Interstellar Object) ดวงที่สามตั้งแต่มีการค้นพบมา จึงได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า "3I/ATLAS"

วัตถุที่ถูกค้นพบในระบบสุริยะส่วนมากนั้น เป็นวัตถุที่มีวงโคจรและต้นกำเนิดอยู่ภายในระบบสุริยะเอง แม้กระทั่งดาวหางคาบยาวที่อาจจะมีวงโคจรที่ไกลออกไปมากถึงขอบของเมฆออร์ต หรืออาจจะไม่วกกลับมาอีก ต่างก็ล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดจากการยึดกันอยู่อย่างหลวม ๆ ภายใต้แรงโน้มถ่วงของระบบสุริยะ
จนกระทั่งในปี 2017 มีการค้นพบ "Oumuamua" 1I/2017 U1 ซึ่งเป็นวัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยดวงแรกที่พบว่ามีต้นกำเนิดจากระบบสุริยะอื่นนอกไปจากระบบสุริยะของเรา ขนาด รูปร่าง และต้นกำเนิดอันแปลกประหลาดของมันทำให้กลายเป็นที่สนใจในแวดวงดาราศาสตร์อย่างรวดเร็ว และปัจจุบันก็ยังมีปริศนาอีกมากเกี่ยวกับ Oumuamua ที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ ต่อมาในปี 2019 จึงได้มีการค้นพบวัตถุจำพวก Interstellar Object ดวงที่สอง มีชื่อว่า 2I/Borysov
สำหรับ 3I/ATLAS นี้ ถูกค้นพบโดยโครงการ ATLAS เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา การสำรวจจากฐานข้อมูลย้อนหลังพบว่า กล้องโทรทรรศน์อื่นในโครงการ ATLAS และ Zwicky Transient Facility ได้มีการบันทึกภาพวัตถุนี้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2025 จากการคำนวณวงโคจรจึงทำให้สามารถยืนยันได้ว่าวัตถุนี้มีต้นกำเนิดมาจากนอกระบบสุริยะ จึงนับเป็นวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะดวงที่สามเท่าที่เคยมีการค้นพบมาในประวัติศาสตร์ จึงทำให้มีการเปลี่ยนชื่อจาก C/2025 N1 (ATLAS) ซึ่งเป็นการระบุวัตถุประเภทดาวหาง เป็น 3I/ATLAS โดยตัวย่อ "I" มาจาก "Interstellar" หมายถึง ระหว่างดวงดาว ใช้กับวัตถุท้องฟ้าที่ตรวจพบและยืนยันวิถีโคจรแล้วว่ามาจากนอกระบบสุริยะ ส่วนเลข 3 แสดงว่าวัตถุดวงนี้เป็นวัตถุระหว่างดวงดาวดวงที่ 3 ที่นักดาราศาสตร์ค้นพบนั่นเอง
ปัจจุบัน 3I/ATLAS อยู่ห่างจากโลกของเราถึง 670 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็น 4.5 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) โดยวัตถุนี้ไม่มีอันตรายต่อโลกแต่อย่างใด และจะเข้ามาใกล้ระบบสุริยะที่สุดในระยะทาง 1.4 หน่วยดาราศาสตร์ หรือใกล้กว่าวงโคจรของดาวอังคารเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะหลุดออกไปนอกระบบสุริยะอีกครั้งโดยไม่มีวันกลับมา
การมาเยือนของวัตถุนอกระบบสุริยะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และเพิ่งเริ่มมีการค้นพบจริงจังในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีและวิธีการสำรวจทางดาราศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น โอกาสในการค้นพบวัตถุเหล่านี้ก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกล้องโทรทรรศน์ Vera C. Rubin Observatory ที่เพิ่งเปิดเผยภาพแรกไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การค้นพบวัตถุนอกระบบสุริยะเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งอาจทำให้เราพบว่า เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่คาดคิดไว้ในอดีต และในวันหนึ่งข้างหน้า การสำรวจเหล่านี้อาจนำไปสู่การค้นพบเกี่ยวกับโลกอื่นที่อยู่นอกเหนือจากระบบสุริยะของเรา หรือแม้แต่เปิดประตูสู่ความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับระบบสุริยะที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญคือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อาจยังคงเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยในตอนนี้ และกำลังรอให้เราได้พบเจอในอนาคตอันใกล้นี้
นักดาราศาสตร์จากทั่วโลกกำลังศึกษาขนาดและคุณสมบัติทางกายภาพของดาวหางระหว่างดวงดาวดวงนี้ โดยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่จากภาคพื้นดินน่าจะยังคงสังเกตการณ์ดาวหางแอตลัสได้จนถึงเดือนกันยายน (ดาวหางดวงนี้ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า) หลังจากนั้นดาวหางจะโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์ (อ้อมมาทางด้านหลังดวงอาทิตย์) เกินกว่าจะสังเกตเห็นได้ คาดว่าดาวหางจะกลับมาปรากฏให้สังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่อีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2025
แปลและเรียบเรียง : มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการ
พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง : [1] https://science.nasa.gov/blogs/planetary-defense...
[2] https://ssd.jpl.nasa.gov/tools/sbdb_lookup.html#/?sstr=1004083