ข่าวกิจกรรม


บรรยากาศความประทับใจ ค่าย AAC 2025 ค่ายเยาวชนดาราศาสตร์อาเซียน ประจำปีนี้

NARIT โดยศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก (ITCA) จัดค่ายเยาวชนดาราศาสตร์อาเซียน “ASEAN Astronomy Camp” หรือ AAC 2025 นำเยาวชนกว่า 42 คน จาก 11 ประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ระหว่างที่ 11-14 มีนาคม 2567 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ. เชียงใหม่ สัมผัสประสบการณ์การดูดาว บนยอดดอยอินทนนท์ พื้นที่ที่มีฟ้าดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ภาษา เยี่ยมชมหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ และห้องปฏิบัติการทางดาราศาสตร์ที่ล้ำหน้าและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Aa C5

ค่ายเยาวชนดาราศาสตร์อาเซียน (ASEAN Astronomy Camp - AAC 2025) เป็นค่ายดาราศาสตร์นานาชาติ ที่เปิดรับสมัครเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 ปี ในภูมิภาคอาเซียน ร่วมเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ มุ่งสร้างประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดาราศาสตร์ และวัฒนธรรม สร้างความประทับใจ ความตระหนักและตื่นรู้ พัฒนาความสนใจในเชิงวิทยาศาสตร์ทั้งเยาวชนไทย และนานาชาติ

ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดย NARIT ดำเนินกิจกรรมผ่านศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก (International Training Centre in Astronomy under the auspices of UNESCO) ซึ่งเป็น Category 2 Centre (ศูนย์กลางความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติหรือภูมิภาค) ภายใต้องค์การยูเนสโกเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในสาขาดาราศาสตร์ และเพียงแห่งเดียวที่จัดตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร. หรือ NARIT) ในฐานะสำนักงานประสานงานดาราศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการพัฒนาดาราศาสตร์ภายใต้สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (Southeast Asia Regional Office of Astronomy for Development: SEAROAD)

การจัดค่ายครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมมากถึง 317 คน จากนานาประเทศ และผ่านการคัดเลือกจำนวน 42 คน จากทั้งสิ้น 11 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม พม่า กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย บังคลาเทศ และญี่ปุ่น ภายในค่ายมีกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ต่างๆ มากมาย อาทิ การบรรยายการดูดาวเบื้องต้น เรียนรู้เกี่ยวกับพิกัดทรงกลมท้องฟ้า Constellation Maker การจำลองดาวหาง แบบจำลองระบบสุริยะ Powers of Ten ดาราศาสตร์ในหลากหลายช่วงคลื่น การสาธิตเทคโนโลยีการหล่อเย็นด้วยไนโตรเจนเหลว และการใช้กล้องโทรทรรศน์ เป็นต้น

Aa C9 Aa C10
กิจกรรม "การจำลองดาวหาง" กิจกรรม "Constellation Maker"

Aa C6

Aa C2
กิจกรรม "การใช้กล้องโทรทรรศน์" กิจกรรม "สังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าจริง"

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทย ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร และ 1.0 เมตร บนดอยอินทนนท์ กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 และเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้ง ยังได้เยี่ยมชมอาคารปฏิบัติการนวัตกรรมขั้นสูง อาคารปฏิบัติการพัฒนาต้นแบบ และบ่มเพาะเทคโนโลยี อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีฟิล์มบาง อาคารปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานเชิงกลขั้นสูง ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการเชิงวิศวกรรมด้านดาราศาสตร์ที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ตั้งอยู่ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ. เชียงใหม่ สำนักงานใหญ่ของ NARIT

Aa C7 Aa C4
ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ณ อาคารปฏิบัติการนวัตกรรมขั้นสูง

Aa C8

Aa C1
ณ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ณ หอดูดาวแห่งชาติ

สิ่งสำคัญที่สุดของค่าย คือการที่เยาวชนนานาชาติได้มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และแบ่งปันประสบการณ์ความประทับใจและหลงใหลในดาราศาสตร์ร่วมกัน ภายใต้ท้องฟ้าที่ดีที่สุดของประเทศไทยบนยอดดอยอินทนนท์

ดร. มติพล ตั้งมติธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก (ITCA) และผู้ประสานงานของ Southeast Asia Regional office of Astronomy for Development (SEA-ROAD) กล่าวว่า  “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ และการตื่นรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ปัจจุบันวงการดาราศาสตร์ไทยเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก NARIT ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 ปี พัฒนา โครงสร้างพื้นฐานและสร้างกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคถึงสามกล้อง เพื่อใช้เป็นแหล่งวิจัย และเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ รวมถึงรองรับการจัดค่ายเยาวชน และการอบรมบุคลากรทางดาราศาสตร์ จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และหวังขยายผลเผยการแพร่องค์ความรู้ทางดาราศาสตร์สู่ประเทศอาเซียนใกล้เคียง

ดร. มติพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เยาวชนหลากหลายวัฒนธรรมได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ โดยเฉพาะในสิ่งที่สนใจร่วมกันนั้น ยังเป็นโอกาสที่ดีจะได้ค้นหาตัวเองอีกด้วย บรรยากาศภายในค่ายเป็นไปอย่างคึกคัก แม้ว่าต้องสื่อสารผ่านภาษาต่างประเทศ แต่ทุกคนก็สามารถทำความรู้จักและสนิทสนมกันได้อย่างรวดเร็ว เป็นการพัฒนาทักษะการสื่อสาร สร้างมิตรภาพและพบปะเพื่อนใหม่ พร้อมกับการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ผ่านกิจกรรมดาราศาสตร์หลากหลายรูปแบบ

ค่ายเยาวชนดาราศาสตร์อาเซียน หรือ AAC จะกลับมาอีกในปีถัดไป เพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายและพหุวัฒนธรรมแก่เยาวชนที่เข้าร่วมทุกคนอีกครั้ง ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งถัดไป ติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครได้ทางทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และเว็บไซต์ www.NARIT.or.th

Gallery

image-showcase
image-showcase
image-showcase