ข่าวกิจกรรม
โบราณดาราศาสตร์ที่วัดใหญ่
NARIT ร่วมพิสูจน์การวางผังทิศวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ในวันวสันตวิษุวัต
20 มีนาคม 2568 กลุ่มวิจัยประวัติศาสตร์และมรดกทางดาราศาสตร์ NARIT นำโดยอาจารย์อรพิน ริยาพร้าว ผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้ากลุ่มวิจัยฯ ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่น ศึกษาและตรวจสอบความสัมพันธ์การวางผังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) จังหวัดพิษณุโลก กับวันวสันตวิษุวัต ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี เพื่อพิสูจน์ว่าวัดมีการวางทิศกับวันดังกล่าว
กระบวนการศึกษาเริ่มตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันดังกล่าว โดยศึกษาบริเวณแกนทิศวิหารพระอัฏฐารส (เหลือแต่ฐานและเสา) ด้านทิศตะวันออกขององค์พระปรางค์ประธาน พบว่าวิหารวางทิศเฉียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศเหนือเป็นมุมราว 2 องศา (หรือมุมทิศ 88 องศา) และเมื่อตรวจสอบตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ขึ้นจริงบริเวณขอบฟ้า ในวันวสันตวิษุวัต ปี พ.ศ. 2568 นี้ ซึ่งตรงกับพิกัดทิศตะวันออกพอดี พบว่า ไม่มีตำแหน่งดวงอาทิตย์ช่วงใดเลยที่ตรงกับแนวแกนทิศของวิหารพระอัฏฐารส แต่คาดว่าหลังจากวันดังกล่าวจะมีวันแรกที่เริ่มเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏบริเวณขอบฟ้าตรงกับแนวแกนวิหารพอดี และ ในวันถัด ๆ ไปแม้ดวงอาทิตย์จะปรากฏตรงแกนทิศได้ แต่จะอยู่สูงจากขอบฟ้ามากกว่าวันก่อนหน้าไปเรื่อย ๆ
จากนั้นช่วงเย็น ได้ศึกษาการวางทิศของวิหารพระพุทธชินราช ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตก เพื่อตรวจสอบการวางผังว่าตรงกับทิศตะวันตกพอดีหรือไม่ ด้วยการปิดประตูทางเข้าวิหารให้เหลือเพียงช่องเล็ก ๆ เพื่อสังเกตลำแสงดวงอาทิตย์ที่ส่องผ่านประตูวิหารขณะดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ผลการพิสูจน์พบว่าแนวลำแสงที่ส่องผ่านประตูวิหารเป็นลำแสงที่เป็นมุมกดส่องลงพื้นเท่านั้น ไม่ได้ส่องถึงองค์พระประธาน เนื่องด้วยตำแหน่งดวงอาทิตย์ยังอยู่สูง ไม่ใช่บริเวณขอบฟ้า จึงมีเพียงแสงกระทบจากพื้นสะท้อนขึ้นไปส่องสว่างองค์พระพุทธชินราช และเมื่อรอกระทั่งดวงอาทิตย์กำลังตกลับขอบฟ้าพอดี พบว่าลำแสงที่ปรากฏบริเวณพื้นเฉียงจากแนวกลาง (เส้นสายวัดที่ลากแนวกึ่งกลางไว้) ไปทางทิศใต้ (ทางขวาของภาพ) ยืนยันผลการศึกษาสอดคล้องกับในภาคเช้าว่าแกนทิศของวัดมีการวางทิศเอียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศเหนือ
การพิสูจน์ในครั้งนี้มีนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน พร้อมด้วยสื่อมวลชนจำนวนมากร่วมเป็นสักขีพยานผลการศึกษาในวันวสันตวิษุวัตดังกล่าว
ทั้งนี้ หากต้องการเห็นลำแสงอาทิตย์ส่องถึงพระพักตร์ขององค์พระพุทธชินราช จะเป็นช่วงวันก่อน (ประมาณ 2 วัน) วันวสันตวิษุวัต (20-21มีนาคม) และหลัง (ประมาณ 2 วัน) จากวันศารทวิษุวัต (23 กันยายน) ของทุกปี ที่ดวงอาทิตย์ลงมาบริเวณขอบฟ้าก่อนตกและยังมีแสงเข้มพอ เป็นแสงออกสีแดงทอง ทำให้องค์พระสว่างจ้างดงามมาก จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมติดตามชมปรากฏการณ์พร้อมเก็บภาพความสวยงามในช่วงวันดังกล่าวได้ต่อไป
![]() |
![]() |
ดังนั้น จากการศึกษาการวางผังทิศวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ในวันวสันตวิษุวัตครั้งนี้ สรุปเบื้องต้นได้ว่าการวางผังของวัดไม่น่าจะสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ในวันวิษุวัต ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลหามุมทิศเบื้องต้น พบมีความเป็นไปได้ที่จะวางผังกับดาวไถ (เข็มขัดนายพราน) ต้องรอการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้อย่างละเอียดยืนยันต่อไป
การศึกษาครั้งนี้ได้รับการอนุญาตจากกรมศิลปากร และท่านเจ้าอาวาสได้ให้ความอนุเคราะห์ปิดไฟตลอดช่วงเวลาที่ทำการศึกษา เพื่อให้ท้องฟ้ามืดเพียงพอต่อการเก็บข้อมูลดาว
ข้อมูล : อ. อรพิน ริยาพร้าว - ผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้ากลุ่มวิจัยประวัติศาสตร์และมรดกทางดาราศาสตร์ NARIT