Press Release


21 มิ.ย. 68 “วันครีษมายัน” ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผย 21 มิถุนายน 2568 เป็น “วันครีษมายัน” ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด เป็นสัญญาณเริ่มต้นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกใต้

01 21 มิ.ย. 68 “วันครีษมายัน” ช่วงเวลากลางวันยาว

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สดร. เปิดเผยว่า วันที่ 21 มิถุนายน 2568 ตรงกับ “วันครีษมายัน” (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุด และช่วงเวลากลางคืนสั้นที่สุดในรอบปี เนื่องจากดวงอาทิตย์โคจรไปถึง “จุดหยุด” หรือ “จุดเหนือสุด” บนเส้นทางการเคลื่อนที่ปรากฏบนท้องฟ้า ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ปรากฏเคลื่อนที่ไปทางเหนือประมาณวันละ 1 องศา จนถึงจุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน ส่งผลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทำให้ในวันดังกล่าวประเทศไทยจะมีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 05:51 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

02 “วันครีษมายัน” ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่ 03 ตำแหน่งการขึ้นตกของดวงอาทิตย์ในรอบปี 0

ทั้งนี้ วันครีษมายัน ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อนในประเทศทางซีกโลกเหนือ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ขณะที่ประเทศในซีกโลกใต้ เช่น ชิลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงเวลาเดียวกัน  

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฤดูกาลบนโลกเกิดจากการเอียงของแกนโลก ซึ่งทำมุมประมาณ 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากของระนาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้แต่ละพื้นที่บนโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ทั้งในแง่ของอุณหภูมิ และระยะเวลากลางวัน-กลางคืนที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของฤดูกาล โดยในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วและตกช้า ขณะที่ในฤดูหนาวจะตรงกันข้าม คือเวลากลางคืนยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์ขึ้นช้าและตกเร็ว

ปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ “วันศารทวิษุวัต” (Autumnal Equinox) ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2568 วันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านฤดูกาล ประเทศในซีกโลกเหนือจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ขณะที่ประเทศในซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีความสำคัญทั้งทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

04 การเคลื่อนที่ของโลกรอบดวงอาทิตย์  0

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook: www.facebook.com/NARITpage, X : @NARIT_Thailand,
Instagram: @NARIT_Thailand, TikTok: NARIT_Thailand