นักดาราศาสตร์และนักวิจัยจำนวนมากทั้งในประเทศ และจากทั่วโลกใช้กล้องโทรทรรศแห่งชาติ เก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ อาทิ ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exo-planet) ศึกษาสมบัติทางกายภาพและการวิวัฒนาการของระบบดาวคู่แบบใกล้ชิด (Close Binary System) ดาวระเบิด (Cataclysmic Variable) การบังดาวของดวงจันทร์ (Lunar Occultation) หลุมดำ (Black Hole) ในระบบดาวคู่หรือดาวแปรแสง เอกภพวิทยา (Cosmology) สสารและพลังงานมืด (Dark Matter and Dark Energy) ฯลฯ
ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา "TNO" ดวงตาแห่งเอกภพของไทย ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เป็นตัวเร่งผลักดันงานวิจัยระดับหน้าร่วมแล้ว 225 โครงการ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วกว่า 60 เรื่อง
10 งานวิจัยเด่นจากหอดูดาวแห่งชาติ
1. ค้นพบดาวฤกษ์ใหม่จากปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาว
ทีมนักดาราศาสตร์ NARIT นำโดย Dr. Andrea Richichi ได้สังเกตปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาว (Lunar occultation) มากกว่า 50 ครั้ง โดยใช้อุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งเพื่อใช้งานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ผลการสังเกตการณ์ดังกล่าวทำให้ทราบถึงวงโคจรที่แม่นยำของดาวฤกษ์ในระบบดาวคู่ รวมถึงสามารถยืนยันการค้นพบดาวฤกษ์ดวงใหม่ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ o Psc และลักษณะที่ไม่สมมาตรของดาวฤกษ์ Aldebaran
2. ค้นพบระบบดาวคู่ชนิดใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างในช่วงความยาวคลื่นวิทยุ
ทีมนักดาราศาสตร์ไทย และนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดย Prof. Tom Marsh จาก University of Warwick สหราชอาณาจักร ค้นพบระบบดาวคู่ชนิดใหม่ เรียกว่า Radio-Pulsing White Dwarf Binary ในระบบดาวคู่ AR Sco ศึกษาผ่านอุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร ร่วมกับข้อมูลกล้องโทรทรรศน์อื่นทั่วโลก Radio-Pulsing White Dwarf Binary เป็นระบบดาวคู่ ประกอบด้วยดาวแคระขาวที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูง และดาวฤกษ์มวลน้อย การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วของดาวแคระขาวทำให้เกิดอนุภาคพลังงานสูง แผ่ออกมาเป็นลำของรังสีสาดไปยังดาวฤกษ์มวลน้อย ทำให้ระบบดาวคู่เกิดการเปลี่ยนความสว่างของขึ้นครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ความยาวคลื่นวิทยุ ไปจนถึงรังสีเอ็กซ์
3. ค้นพบปรากฏการณ์ดาวแคระขาวกลืนดาวเคราะห์บริวาร
ทีมนักดาราศาสตร์ NARIT และนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดย Prof. Boris Gaensicke จาก University of Warwick สหราชอาณาจักร ใช้อุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์บริวารถูกแรงโน้มถ่วงสลายมวลเมื่อเข้าใกล้ดาวแม่ซึ่งเป็นดาวแคระขาว ชื่อว่าดาว WD 1145+017 จากการสังเกตการณ์พบว่าแสงของดาวแคระขาวลดลงหลายช่วง เนื่องจากเศษดาวเคราะห์ที่แตกออกถึง 6 กลุ่ม เคลื่อนที่ทยอยบังดาวแม่เป็นช่วงๆ เศษดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวแคระขาวนี้มีคาบการโคจร 4.5 ชั่วโมง ปกติแล้วการศึกษาปรากฏการณ์เช่นนี้ต้องใช้เวลานับสิบปี แต่การศึกษาการดูดกลืนมวลของดาวเคราะห์บริวารของดาว WD 1145+017 เก็บข้อมูลในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นจุดจบของดาวเคราะห์แบบวันต่อวัน
4. ค้นพบดาวแคระขาวที่มีชั้นบรรยากาศแปลกประหลาด
ทีมนักดาราศาสตร์ไทย และนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดย Dr. Mark Hollands จาก University of Warwick สหราชอาณาจักร ค้นพบชั้นบรรยากาศที่ประกอบด้วยคาร์บอนและไฮโดรเจนบนดาวแคระขาวมวลมาก WD J055134.612+413531.09 การค้นพบครั้งนี้นับเป็นเรื่องแปลกที่ชั้นบรรยากาศของดาวแคระขาวดวงดังกล่าวไม่มีชั้นของฮีเลียมเหมือนดาวแคระขาวทั่วไป นอกจากนี้ การที่มีมวลสูงถึง 1.14 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า ดาวแคระขาวดวงนี้เกิดจากการรวมกันของดาวแคระขาวสองดวงที่มีองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศที่แตกต่างกัน นอกจากการค้นพบชั้นบรรยากาศที่แปลกประหลาด จากการสังเกตการณ์ดาวแคระขาวด้วยอุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร ยังพบว่าดาวแคระขาว WD J055134.612+413531.09 มีการกระเพื่อมที่ผิวดาว ซึ่งอาจนำไปใช้ในการศึกษาแกนกลางของดาวแคระขาวดังกล่าวได้ในอนาคต
5. ค้นพบวัตถุที่โคจรรอบระบบดาวคู่คล้ายดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัสบดี
ทีมนักดาราศาสตร์ NARIT นำโดย Dr.Puji Irawati ได้ศึกษาการบังกันของดาวคู่ SDSS J1021+1744 โดยใช้อุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จากการสังเกตการณ์พบว่า หลังจากการบังกันของดาวคู่ SDSS J1021+1744 แสงของดาวคู่ลดลง ซึ่งอาจเกิดจากวัตถุที่โคจรรอบระบบดาวคู่ ในตำแหน่งที่เสถียรคล้ายดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัสบดี โดยการลดลงของแสงในแต่ละครั้งมีรูปร่าง และเวลาการบังที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามการสังเกตการณ์ในปี พ.ศ. 2558 ไม่พบการลดลงแสงดังกล่าว ซึ่งทำให้คาดว่าการลดลงของแสงนั้นอาจเกิดจากพวยก๊าซของดาวฤกษ์ในระบบ
6. ค้นพบระบบดาวคู่ที่อาจมีดาวเคราะห์สองดวงโคจรรอบ
ทีมนักดาราศาสตร์ NARIT และนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดย Prof. Krzysztof Gozdziewski จาก Nicolaus Copernicus University ประเทศโปแลนด์ ได้สังเกตการณ์ระบบดาวคู่ HU Aqr ด้วยอุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร จากการสังเกตการณ์พบว่าระบบดาวคู่มีเวลาการบังกันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเกิดจากผลของวัตถุที่สามในระบบดาวคู่ ที่ทำให้ดาวคู่นั้นเคลื่อนเข้าหาหรือถอยห่างออกจากโลก มีผลทำให้แสงของระบบดาวคู่ที่เดินทางมาถึงโลกนั้นมาถึงเร็วขึ้นหรือช้าลงจากเดิม จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันพบว่าอาจเกิดจากดาวเคราะห์สองดวงที่โคจรรอบระบบดาวคู่ อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมของระบบดาวคู่ HU Aqr ในปี พ.ศ. 2557 ด้วยกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาด 2.4 เมตร พบว่าการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันนั้นอาจไม่ได้เกิดจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ แต่เกิดจากจุดมืดบนดาวฤกษ์ในระบบ
7. ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศเป็นสีฟ้าคล้ายโลก
ทีมนักดาราศาสตร์ NARIT นำโดย ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ ได้สังเกตการณ์การผ่านหน้าของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470 b มีลักษณะคล้ายดาวเนปจูน โดยใช้อุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 พบว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470 b มีชั้นบรรยากาศที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นหลัก และอาจมีก๊าซมีเทนเจือปนอยู่ นอกจากนี้บรรยากาศชั้นบนของดาวเคราะห์นอกระบบ GJ3470 b มีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟ้าหลัวอยู่ หากเราไปอยู่บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ เราก็จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้าคล้ายกับเมื่อเรามองท้องฟ้าบนโลกของเรา หลายคนอาจคุ้นชื่อ GJ3470 b กันมาบ้างแล้ว … ใช่ครับ GJ3470 b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ NARIT จัดกิจกรรมเชิญชวนชาวไทยร่วมเสนอชื่อไทยให้กับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และดาวฤกษ์แม่ที่ดาวดวงนี้โคจรล้อมรอบ ชื่อที่เสนอเข้ามาและได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดจากประชาชนชาวไทย คือ แก้วโกสินทร์ - ไพลินสยาม ขณะนี้ได้เสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ พิจารณาและประกาศใช้ต่อไป
8. ศึกษาวิวัฒนาการของกระจุกดาวอายุน้อย
ทีมนักดาราศาสตร์ NARIT นำโดย Dr. Ram Kesh Yadav ได้ศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์กระจุกดาวอายุน้อย IRAS 05100+3723 อยู่ห่างออกไปประมาณ 10,000 ปีแสง โดยใช้อุปกรณ์ Medium Resolution Spectrograph ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จากการสังเกตการณ์พบว่าดาวมวลมากส่วนมากในกระจุกดาวเป็นดาวฤกษ์ประเภท O ที่มีอุณหภูมิประมาณ 33,000 เคลวิน นอกจากนี้ ยังใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Giant Metrewave Radio Telescope ศึกษาเพิ่มเติมกระจุกดาวดังกล่าว พบว่ามีประจุของอะตอมไฮโดรเจนกระจายอยู่รอบๆ กระจุกดาว ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถอธิบายวิวัฒนาการของกระจุกดาวอายุน้อยนี้ได้
9. สังเกตการณ์สัญญาณการระเบิดอย่างรวดเร็วในย่านความยาวคลื่นวิทยุ
ทีมนักดาราศาสตร์ NARIT ร่วมกับนักดาราศาสตร์จาก University of Sheffield และ University of Warwick สหราชอาณาจักร ได้สังเกตการณ์สัญญาณการระเบิดอย่างรวดเร็วในย่านความยาวคลื่นวิทยุ ที่เรียกว่า Fast radio burst ในช่วงความยาวคลื่นแสง ด้วยอุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร การสังเกตการณ์ดังกล่าวใช้กล้องโทรทรรศน์ในช่วงความยาวคลื่นแสง และกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วโลกในการตรวจวัดสัญญาณ Fast radio burst ร่วมกันทั้งสิ้น 5 สัญญาณ แม้ว่าผลการสังเกตการณ์จะไม่สามารถตรวจวัดสัญญาณ Fast radio burst ในช่วงความยาวคลื่นแสงได้ แต่ก็สามารถบอกถึงลิมิตบนของสัญญาณ Fast radio burst ในช่วงความยาวคลื่นแสงได้
10. ค้นหาแหล่งกำเนิดคลื่นความโน้มถ่วง
ปี พ.ศ. 2562 ทีมนักดาราศาสตร์ NARIT นำโดย ดร. กันต์ธนากร น้อยเสนา ร่วมกับกลุ่มวิจัย Global Rapid Advanced Network Devoted to the Multi-messenger Addicts หรือ GRANDMA หนึ่งในกลุ่มวิจัยที่ติดตามปรากฏการณ์คลื่นความโน้มถ่วง ใช้อุปกรณ์ ULTRASPEC ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร ศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากเกิดคลื่นความโน้มถ่วง โดยสังเกตการณ์วัตถุที่เกี่ยวพันธ์กับปรากฏการณ์คลื่นความโน้มที่เกิดจากการชนกับของดาวนิวตรอน ชื่อ AT2019xwt พบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากคลื่นความโน้มถ่วง แต่เป็นซูเปอร์โนวา (Supernova) ปัจจุบัน ทีมนักวิจัย NARIT ก็ยังคงเฝ้าติดตามปรากฎการณ์คลื่นความโน้มถ่วง ตลอดจนศึกษาแหล่งให้กำเนิดและแหล่งที่มาของคลื่นความโน้มถ่วงร่วมกับนักดาราศาสตร์ทั่วโลกอย่างใกล้ชิด