ข่าวดาราศาสตร์
อีกหนึ่งกาแล็กซีที่มนุษย์เฝ้าสังเกตการณ์บ่อยครั้ง "กาแล็กซี M90"
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เผยภาพกาแล็กซี Messier 90 (M90) หรือ NGC 4569 เป็นกาแล็กซีประเภทกังหัน (spiral galaxy) ห่างจากโลกประมาณ 55 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) กาแล็กซีนี้ถูกค้นพบโดย ชาร์ล เมซีเย ในปี ค.ศ. 1781
กล้องฮับเบิลเคยถ่ายภาพกาแล็กซี M90 เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1994 โดยใช้กล้อง Wide Field Planetary Camera 2 (WFPC2) จากนั้นในปี ค.ศ. 2009 กล้อง WFPC2 ก็ถูกแทนที่ด้วยกล้อง Wide Field Camera 3 (WFC3) และมีการถ่ายภาพกาแล็กซี M90 ครั้งถัดมาในปี ค.ศ. 2019 และ 2023 ซึ่งภาพใหม่จากกล้อง WFC3 ช่วยให้นักดาราศาสตร์เห็นรายละเอียดโครงสร้างจานฝุ่นของกาแล็กซีที่กว้างขึ้น เห็นรัศมีของแก๊สรอบนอกกาแล็กซี และรวมถึงแกนกลางของกาแล็กซีที่สว่างมากขึ้น
กาแล็กซี M90 เป็นหนึ่งในสมาชิกของ “กระจุกกาแล็กซีกลุ่มดาวหญิงสาว” (Virgo Cluster) ที่มีสมาชิกกว่า 1,300 กาแล็กซี โดยเมื่อประมาณ 300 ล้านปีก่อน M90 โคจรเข้าใกล้ศูนย์กลางของกระจุกกาแล็กซี Virgo Cluster ส่งผลให้วงโคจรถูกเร่งความเร็ว และในอนาคต M90 ก็อาจหลุดออกจากกระจุกกาแล็กซีหญิงสาวไปในที่สุด
ขณะที่นักดาราศาสตร์ทำการศึกษาและวัดระยะห่างของกาแล็กซีอื่น ๆ ในกระจุก พบว่ากาแล็กซีส่วนใหญ่เคลื่อนที่ออกห่างจากโลก แต่กาแล็กซี M90 มีทิศทางการเคลื่อนที่เข้าหาโลก และจะยังเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องไปอีกหลายพันล้านปี จากนั้นกาแล็กซีนี้มีแนวโน้มจะวิวัฒนาการเป็นกาแล็กซีประเภทเลนส์ (lenticular galaxy) ที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างกาแล็กซีทรงรี (Elliptical Galaxy) และกาแล็กซีแบบกังหันในที่สุด
บริเวณจานของกาแล็กซี M90 มีพื้นที่ก่อตัวดาวฤกษ์ที่กำลังคุกรุ่น ซึ่งส่องสว่างในช่วงคลื่น H-alpha ปรากฏเป็นพื้นที่สีแดงในภาพประกอบ อย่างไรก็ตามความหนาแน่นมหาศาลของสสารที่ใกล้กับใจกลางกระจุกกาแล็กซี Virgo Cluster ที่ส่งผลให้เกิดอันตรกิริยากับสสารภายในกาแล็กซี M90 จึงราวกับถูกพายุที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง ทำให้แก๊สที่เคยเกาะตัวหนาแน่นอยู่ในภาย เกิดการกระจายตัวออกมาเป็นวงกว้างรอบ ๆ กาแล็กซี ซึ่งแก๊สเหล่านี้จะไม่สามารถให้กำเนิดดาวฤกษ์ใหม่ได้ และจะค่อย ๆ จางหายไปในอนาคต
เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง : [1] Hubble Captures a New View of Galaxy M90 - NASA Science
[2] Messier 90 - NASA Science