ข่าวดาราศาสตร์
แจ้งเตือน พายุแม่เหล็กโลก รุนแรงระดับ G4 แต่ไม่เป็นอันตรายและไม่ส่งผลกระทบถึงไทย
ผู้สังเกตในละติจูดสูงเตรียมพบกับออโรราอีกครั้ง
NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) หน่วยงานของสหรัฐที่ทำหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสภาพอวกาศ ได้รายงานการพ่นมวลโคโรนา (CME) บนดวงอาทิตย์ คาดว่าจะเดินทางถึงโลกในช่วงกลางคืนวันที่ 10 เข้าวันที่ 11 ตุลาคม 2567 (ตามเวลาประเทศไทย) อาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียมที่โคจรรอบโลก และพายุแม่เหล็กโลก ระดับ G4 ที่อาจส่งผลต่อโรงงานไฟฟ้าในประเทศที่อยู่ละติจูดสูง ทั้งนี้ จะไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ โดยตรงต่อคนบนโลก แต่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์แสงออโรราที่เข้มข้นมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย ที่มีตำแหน่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร บริเวณนี้จะถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี CME ในครั้งนี้จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะส่งผลใด ๆ ต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบละติจูดสูงอาจจะสามารถสังเกตการณ์แสงออโรราได้ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว
"การพ่นมวลโคโรนา" หรือ CME (Coronal Mass Ejection) เป็นการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเต็มไปด้วยอนุภาคมีประจุและมีพลังงานสูง เมื่อเดินทางมาถึงโลก อาจส่งผลต่อไปนี้
1) แสงออโรรา ที่ปรากฏสว่างชัดเจน (เฉพาะพื้นที่ละติจูดสูง-ใกล้ขั้วโลก)
สนามแม่เหล็กโลกจะเบี่ยงให้อนุภาคมีประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลกบริเวณใกล้ขั้วโลก เมื่ออนุภาคมีประจุดังกล่าวชนเข้ากับอนุภาคแก๊สในบรรยากาศชั้นบนของโลก อนุภาคแก๊สจะปล่อยพลังงานกลับออกมาในรูปของแสงที่มีสีสันต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส เกิดเป็นแสงเหนือ-แสงใต้ (Aurora) ที่ปรากฏชัดเจนเหนือประเทศแถบละติจูดสูง หรือใกล้ขั้วโลกนั่นเอง
2) ระบบส่งไฟฟ้า และไฟดับเป็นบริเวณกว้าง (เฉพาะพื้นที่ละติจูดสูง-ใกล้ขั้วโลก)
ฝูงอนุภาคมีประจุใน CME ปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กโลก ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสนามแม่เหล็กที่เรียกว่า "พายุแม่เหล็กโลก" (Geomagnetic storm) ความปั่นป่วนนี้จะเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่พื้นผิวโลก หากกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนนี้เข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้า จะทำให้หม้อแปลงเกิดความเสียหาย และสามารถทำให้เกิดไฟดับเป็นบริเวณกว้าง เช่น เหตุการณ์ไฟดับนาน 9 ชั่วโมง ทางภาคตะวันออกของแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2532
3) ระบบดาวเทียมและระบบนำทาง
เมื่อฝูงอนุภาคมีประจุใน CME มาปะทะเข้ากับดาวเทียม สามารถทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่ตัวดาวเทียม จนดาวเทียมเสียหายได้ และเกิดความเสี่ยงต่อเนื่องถึงระบบนำทาง-ระบุพิกัดตำแหน่งที่ต้องใช้เครือข่ายดาวเทียมหลายดวง
ขณะที่ "การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์" (Solar Flare) ซึ่งเป็นการปะทุปล่อยรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เข้มข้นจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับ CME ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการสื่อสารทางวิทยุในแบบ "สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราว" (Radio blackout)
"สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราว" เกิดขึ้นเมื่อรังสีจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลก ทำให้อนุภาคแก๊สในบรรยากาศชั้นบนของโลกแตกตัวเป็นไอออน เกิดเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้สัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้นเดินทางผ่านได้ยากขึ้น เพราะเมื่อคลื่นวิทยุเดินทางผ่านชั้นอนุภาคแก๊สมีประจุไฟฟ้า จะเสียพลังงานจากการชนกับอิเล็กตรอนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนสัญญาณคลื่นวิทยุอ่อนลงหรือถูกดูดกลืนไปทั้งหมด
ดังนั้น หากดวงอาทิตย์ปลดปล่อยทั้ง CME และเกิดการลุกจ้าที่รุนแรงขึ้นพร้อม ๆ กัน ทั้งสองปรากฏการณ์ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดสภาวะสัญญาณวิทยุขาดหาย และระบบนำทางด้วยดาวเทียมขัดข้อง ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อด้านการบิน ที่จำเป็นต้องใช้ทั้งสองเทคโนโลยีในการเดินทางอยู่ตลอดเวลา
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ "สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราว" (ผลกระทบจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์) และระบบนำทาง (ผลกระทบจาก CME) ร่วมกันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบิน (เครื่องบินที่ต้องใช้ระบบนำทางและสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสาร) ด้วย
สำหรับระดับความรุนแรงของพายุแม่เหล็กโลกนั้น สามารถวัดกันได้หลายวิธี ในที่นี้ใช้ G-scale ซึ่งเป็นการใช้วัดระดับพายุแม่เหล็กโลกที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก ไล่ระดับไปตั้งแต่ G1 จนถึง G5 พายุแม่เหล็กโลกระดับ G4 ในครั้งนี้ จึงเป็นระดับเกือบรุนแรงที่สุด แต่อย่างที่ได้แจ้งไปข้างต้นว่าไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ และ ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง : https://www.swpc.noaa.gov/.../g4-severe-storm-watch-10-11...?