ข่าวดาราศาสตร์


ดาวหางแอตลัส G3 รอดจากการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568

ภาพดาวหางแอตลัส G3 (C/2024 G3 (Atlas)) จากยานสำรวจดวงอาทิตย์ SOHO แสดงให้เห็นดาวหางที่ปรากฏสว่างโดดเด่นในช่วงที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยขณะนี้ดาวหางมีค่าความสว่างที่แมกนิจูด -3.0 ซึ่งมีความสว่างมากเพียงพอให้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ทั้งนี้ ดาวหางมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์น้อยมาก จึงอาจทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์

G3

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568 ดาวหางแอตลัส G3 ได้โคจรผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวงโคจร (Perihelion) ที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 13.9 ล้านกิโลเมตร โดยข้อมูลสังเกตการณ์ล่าสุด [1] พบว่าดาวหางดวงนี้มีค่าแมกนิจูดปรากฏ -3.0 (ใกล้เคียงกับความสว่างของดาวศุกร์ในช่วงนี้) ซึ่งขณะนี้ดาวหางอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) และกลุ่มดาวแพะทะเล (Capricornus) และมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์เพียง 6-7 องศา ทำให้ทันทีที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ดาวหางก็จะมีระยะเวลาปรากฏอยู่บนท้องฟ้าต่ออีกเพียงประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป

สามารถเช็คตำแหน่งปรากฏของดาวหางแอตลัส G3 ได้ที่ : https://theskylive.com/c2024g3-info 

ภาพถ่ายนี้เป็นข้อมูลจากกล้องถ่ายภาพบนยาน SOHO ของนาซาและองค์การอวกาศยุโรป โดยมีหน้ากากบังตัวดวงอาทิตย์เอาไว้ ทำให้สามารถบันทึกภาพห้วงอวกาศรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ได้ และพบว่าดาวหางแอตลัส G3 ยังสามารถอยู่รอดได้หลังผ่านการเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดไปแล้ว

แม้สถานที่บนโลกที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางได้ยังไม่ชัดเจนนัก ฃเพราะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศและมุมเงยของดาวหาง
แต่นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าบริเวณซีกโลกใต้น่าจะเป็นบริเวณที่มีโอกาสสังเกตดาวหางแอตลัสได้ดีที่สุด โดยจะปรากฏทางตะวันตกหลัง
ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหลังจากนี้

สำหรับประเทศไทยนั้น การสังเกตดาวหางแอตลัส G3 หลังจากนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะดาวหางมีมุมเงยที่ต่ำมากในช่วงหัวค่ำ แต่อย่างไรก็ตาม
มีรายงานว่าดาวหางมีความสว่างมากจนสามารถถ่ายภาพได้ในช่วงเวลาเที่ยงวัน [2]

แปลและเรียบเรียง
พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
ที่มาของข้อมูล
[1] https://cobs.si/obs_list?id=2525
[2] https://www.astroarts.co.jp/photo-gallery/photo/117803
[3] https://www.bbc.com/news/articles/cvge4e7dzxyo
[4] https://soho.nascom.nasa.gov/data/realtime/c3/512/
[5] http://www.aerith.net/comet/catalog/2024G3/2024G3.html