ข่าวดาราศาสตร์
หางฝุ่น หางแก๊ส และ anti-tail ดาวหางจื่อจินซานแอตลัส
ช่วงนี้ ทั่วประเทศไทยที่ไหนท้องฟ้าปลอดโปร่ง ออกมามองหาดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำกันดูนะครับ อยู่ถัดจากดาวศุกร์ (ดาวสว่างที่สุดบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก) ปรากฏเหนือขึ้นไปทางขวา อาจจะยังสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่มืดสนิทไม่มีแสงรบกวน มีลักษณะเป็นฝ้าจาง ๆ เป็นทางยาวกว่า 10 องศา (เท่ากับหนึ่งกำปั้นเมื่อเหยียดสุดแขน)
แต่หากใครมีกล้องสองตา หรือลองถ่ายภาพดู อาจจะสังเกตเห็น "หาง" ทั้งสามของดาวหางกันได้ ดังภาพนี้ที่บันทึกเอาไว้ในช่วงหัวค่ำวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
ดาวหางนั้นไม่ได้มีแสงสว่างในตัวเอง ไม่ได้ลาก "หาง" ไปตามทิศทางการเคลื่อนที่เช่นเดียวกับดาวตก แถมยังเคลื่อนที่ช้ามากจนแทบจะปรากฏราวกับหยุดนิ่งด้วยตาเปล่า และขึ้นตกไปพร้อมๆ กับดาวทุกดวงจากการหมุนของโลก
"หาง" ของดาวหางนั้น เกิดจากสารประกอบในดาวหางที่สามารถระเหิดเป็นไอได้เมื่อได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ เมื่อน้ำแข็งเหล่านี้พุ่งออกมาเป็นแก๊ส จึงฟุ้งไปรอบๆ ปรากฏเป็น "หัว" หรือ coma ของดาวหาง ก่อนที่แก๊สรอบๆ หัวนั้นจะถูกเป่าหรือลากไปเป็นทาง
หางฝุ่น
แก๊สส่วนมากนั้น จะถูกเป่าออกช้าๆ ด้วยลมสุริยะ และอาจจะโค้งเป็นแนวตามทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง เช่นในภาพนี้ หางส่วนมากที่เห็นเป็นหางฝุ่น เนื่องจากหางฝุ่นนั้นถูกเป่าออกไปโดยลมสุริยะ หางฝุ่นจะมีทิศทางตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ ดังนั้นหากเราสังเกตเห็นดาวหางเหนือขอบฟ้า เราจะพบว่าหางของดาวหางจะชี้หันออกจากดวงอาทิตย์เสมอ และจะเห็นได้ว่าด้านบนของภาพนั้นจะเห็นหางฟุ้งไปในแนวนั้นมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากว่าดาวหางกำลังค่อยๆ เคลื่อนที่ลงมายังด้านล่างของภาพนั่นเอง
หางแก๊ส
หากเราสังเกตภายในหางของดาวหางดีๆ จะพบว่ามี "เส้น" ที่ทึบกว่าเล็กน้อย ลากออกเกือบเป็นเส้นตรง หางนี้คือส่วนของ "หางแก๊ส" "หางไอออน" หรือ "หางพลาสมา" หางในส่วนนี้จะเกิดจากโมเลกุลของแก๊สที่ถูกรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ทำให้แตกตัวเป็นไอออน เมื่อไอออนสะสมจึงเกิดเป็นพลาสมาในดาวหาง ซึ่งจะมีการเคลื่อนที่หมุนวนไปตามทิศของสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ มักจะปรากฏเป็นเส้นตรงออกจากดวงอาทิตย์ และเป็นสีฟ้า ต่างจากหางฝุ่นที่มักจะมีสีขาวที่สะท้อนมาจากแสงของดวงอาทิตย์
antitail
ส่วนของ antitail นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยากกว่า อนุภาคใน antitail นั้นมักจะเป็นอนุภาคฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ และถูกปัดเป่าโดยลมสุริยะได้ยาก ด้วยเหตุนี้อนุภาคเหล่านี้จึงมักจะถูกทิ้งเอาไว้ตามวงโคจรเดียวกับดาวหาง อย่างไรก็ตาม หากดาวหางกำลังเคลื่อนที่เข้าหาดวงอาทิตย์ อนุภาคฝุ่นเหล่านี้ก็จะมีทิศทางเดียวกันกับหางฝุ่นและหางแก๊ส หรืออาจจะอยู่ในแนวสายตาจากโลกจึงไม่สามารถสังเกตเห็นได้ แต่หากดาวหางมีทิศทางการเคลื่อนที่ บวกกับมุมมองจากโลกที่พอเหมาะ เราจะสามารถสังเกตเห็นอนุภาคที่ถูกทิ้งเอาไว้ตามแนวโคจรเหล่านี้ ชี้ไปยังอีกทิศทางหนึ่ง ซึ่งหากดาวหางนั้นกำลังเคลื่อนที่ออกห่างจากดวงอาทิตย์และโลกกำลังโคจรตัดเข้าไปในระนาบโคจรของดาวหางพอดี เราก็จะสามารถสังเกตเห็นเป็นหางที่มีการชี้ทิศตรงกันข้ามกับอีกหางอื่นๆ ปรากฏเป็น antitail ดังที่เห็นชี้จากหัวของดาวหางไปทางด้านซ้ายของภาพนั่นเอง
สำหรับดาวหาง Tsuchinshan-ATLAS นั้น เป็นดาวหางที่มี antitail ที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่โลกโคจรไปตัดกับระนาบโคจรของดาวหางตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2567 และปัจจุบันยังสามารถสังเกตเห็น antitail ได้จางๆ อย่างไรก็ตาม ขณะที่ดาวหางดวงนี้กำลังโคจรออกจากระบบสุริยะเป็นครั้งสุดท้ายและจะไม่กลับมาอีก ระยะห่างที่ไกลจากโลกและดวงอาทิตย์มากขึ้น ก็จะทำให้ความสว่างของดาวหางดวงนี้ลดลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะจางเกินกว่าที่จะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้อีก ในช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
ภาพและเรียบเรียง: มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการ สดร.