เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ

(Thai Robotic Telescope Network : TRT)

ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณละติจูดที่ 5 ถึง 20 องศาเหนือ ทำให้สังเกตการณ์ท้องฟ้าในซีกฟ้าเหนือได้ทั้งหมด แต่ในซีกฟ้าใต้ทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการศึกษาใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก และวัตถุท้องฟ้าน่าสนใจจำนวนมากในแถบนั้น รวมทั้งช่วงเวลาเหมาะสมแก่การศึกษาใจกลางทางช้างเผือกยังตรงกับฤดูฝนในประเทศไทยด้วยข้อจำกัดดังกล่าว NARIT จึงดำเนินโครงการ ‘เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ควบคุมอัตโนมัติ (Thai Robotic Telescope Network : TRT)’ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 - 0.7 เมตร ในสถานที่มีสภาพท้องฟ้าเอื้ออำนวย มีทัศนวิสัยทางดาราศาสตร์ดีเยี่ยม

cover-image

1. หอดูดาว Cerro Tololo Inter-American Observatory (CTIO) สาธารณรัฐชิลี

NARIT ได้ร่วมมือกับ University of North Carolina ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร ภายใต้โครงการ PROMPT (Panchromatic Robotic Optical Monitoring and Polarimetry Telescopes) ซึ่งประกอบด้วย กล้องโทรทรรศน์ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ระยะไกล โดยสถานที่ที่ติดตั้ง คือ หอดูดาว Cerro Tololo Inter-American Observatory (CTIO) สาธารณรัฐชิลี (ซีกฟ้าใต้) ซึ่งการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ฯ ดังกล่าว ทำให้จำนวนคืนที่สังเกตการณ์ได้ในแถบนี้มีมากกว่า 300 คืน ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ สามารถใช้กล้องสนับสนุนการเรียนการสอนหรือใช้สังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าในซีกฟ้าใต้ได้ในเวลากลางวันของประเทศไทยเนื่องจาก ในเวลาช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลากลางคืนที่หอดูดาว CTIO พอดี โดย NARIT เริ่มใช้กล้องโทรทรรศน์ฯ ดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนตลาคม 2556 เป็นต้นมา

showcase image

2. หอดูดาว Gao Mei Gu มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

NARIT ลงนามความเข้าใจด้านความร่วมมือกับหอดูดาวยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกล ณ หอดูดาว Gao Mei Gu เพื่อ" เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558" และเป็นการเพิ่มจำนวนกล้องโทรทรรศน์แบบควบคุมระยะไกลในซีกฟ้าเหนือด้วย

showcase image

3. หอดูดาว Sierra Remote มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

NARIT ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาว Sierra Remote Observatories (SRO) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตป่าสนบนภูเขาสูง อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ไม่มีแสงรบกวนจากภายนอก จึงทำให้สภาพท้องฟ้าและอากาศเหมาะสมต่อการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ตลอดทั้งปี กล้องโทรทรรศน์ฯ ตัวนี้ ทำหน้าที่ในการติดตามวัตถุต่าง ๆ ในซีกฟ้าเหนือ ซึ่งสามารถรองรับการทำงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังรองรับการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์เพื่อความสวยงามได้อีกด้วย จุดเด่นของกล้องโทรทรรศน์ฯ ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาว SRO คือ นักวิจัยหรือผู้ที่ใช้งาน สามารถเข้าไปกรอกข้อมูลความต้องการบนหน้าเว็บไซต์ของระบบ AstroNet โดยไม่ต้องอยู่ควบคุมตลอดเวลา นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถ ติดตามวัตถุบนท้องฟ้าได้ในเวลากลางวันของประเทศไทย เนื่องจากเวลาของประเทศไทยกับหอดูดาว Sierra Remote Observatories (SRO) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างกันประมาณ 14 ชั่วโมง ทำให้นักวิจัยสามารถลงรายละเอียดการติดตามวัตถุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่ง สดร. ได้เริ่มใช้กล้องโทรทรรศน์ฯ ดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558

showcase image

4. หอดูดาว SpringBrook นิวเซาท์เวลส์ (NWS) ออสเตรเลีย

โครงการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ COK700 และ COK17 ณ หอดูดาว Springrook, Coonabarabran, NSW, Australia นั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลของประเทศไทย (Thai Robotic Telescope Network, TRT" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ที่จะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบ CK700 ตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีท้องฟ้าเหมาะสมสำหรับการติดตามวัตถุบนท้องฟ้า และพัฒนาให้กล้องทำงานในโหมดควบคุมระยะไกล (remote mode) และโหมดหุ่นยนต์ (robotic mode) เพื่อให้เครือข่าย TRT สามารถสนับสนุนงานวิจัยและงานบริการวิชาการให้กับ NARIT หอดูดาว SpringBrook, Coonabarabran, NSW, Australia เป็นหอดูดาวที่ดำเนินการโดยเอกชน ที่มีทำเลที่ตั้งดีที่สุดแห่งหนึ่งในซีกฟ้าใต้ อยู่ติดกับหอดูดาว Siding Spring ซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งชาติเครือรัฐออสเตรเลีย ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจได้ว่า หอดูดาว ดังกล่าว เป็นหอดูดาวที่มีสภาพท้องฟ้าเหมาะสม และจะไม่ถูกรบกวนทางแสงจากชุมชนเนื่องจากมีการจัดการโดยรัฐบาลเพื่อปกป้องผลกระทบต่อหอดูดาวแห่งชาติ โดยได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2559 และได้ดำเนินการติดตั้งกล้องพร้อมทดสอบเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560

showcase image

NARIT ออกแบบและพัฒนาระบบควบคุมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ด้วยการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ดาราศาสตร์ และทัศนศาสตร์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน ทำงานในโหมดควบคุมระยะไกล และโหมดหุ่นยนต์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลก มีระบบคัดเลือกติดตามวัตถุท้องฟ้าได้เอง สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของวัตถุท้องฟ้าได้ตลอดเวลาทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ควบคุมอัตโนมัตินี้ ให้บริการนักวิจัยดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยระดับโรงเรียน

Trt 01 (1)

TRT : Thai Robotic Telescope

ติดตามที่ https://trt.narit.or.th/