Press Release
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น
หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 4 ของไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีเปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น ในวันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอย่างเป็นทางการ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 4 ของไทย
18 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 19:30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เฝ้า ฯ รับเสด็จ ผู้จัดการกลุ่มงานกฎหมายอาวุโส สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้า ฯ ถวายพวงมาลัย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาพิธี ประทับพระราชอาสน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณ เข้ารับพระราชทานเข็มที่ระลึก (จำนวน 23 ราย)
จากนั้น เสด็จออกจากพลับพลาพิธี เสด็จ ฯ ไปทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น” และทรงปลูกต้นจามจุรี ซึ่งเป็นต้นลูกของต้นจามจุรีพระราชทาน
ที่รัชกาลที่ 9 ทรงปลูก ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการรักษ์จามจุรี (ทรงปลูก) ของชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2518 เสด็จเข้าอาคารนิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการดาราศาสตร์ นิทรรศการ Space Lab ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่่งชาติ นิทรรศการเกี่ยวกับการสำรวจดวงจันทร์ และทอดพระเนตรนิทรรศการโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนของโรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ จากนั้นเสด็จ ฯ ต่อไปยังห้องฉายพระฉายาลักษณ์ ฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และทรงลงพระนามาภิไธยบนแผ่นทองเหลือง
ต่อมา เสด็จออกจากอาคารนิทรรศการ ไปยังอาคารหอดูดาว ทอดพระเนตรนิทรรศการปฏิทินดิถีเพ็ญ ฉบับ สดร. ผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้า ฯ ถวายหนังสือปฏิทินดิถีเพ็ญ ฉบับ สดร.
เสด็จพระราชดำเนินขึ้นชั้น 3 บริเวณระเบียงดูดาว ทอดพระเนตรวัตถุท้องฟ้า อาทิ กระจุกดาวลูกไก่ เนบิวลานายพราน (M42) ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ผ่านกล้องโทรทัศน์ชนิดหักเหแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 150 มม. และ กล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสงแบบผสม ขนาด 14 นิ้ว จากนั้นประทับพระราชอาสน์ ณ โต๊ะทรงงาน ทรงบันทึกภาพดาวเสาร์ ด้วยระบบอัตโนมัติจากกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร และทรงบันทึกภาพเนบิวลานายพราน (M42) จากกล้องดิจิทัลผ่านกล้องโทรทรรศน์ชนิดหักเหแสง ต่อจากนั้น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าถวายกล้องโทรทรรศน์ “Seestar” smart telescope”
หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินลงชั้น 1 ออกจากอาคารดูดาว เสด็จ ฯ ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งบริเวณพื้นสนามหญ้าชั้นล่างของหอดูดาวมีประชาชนชาวอำเภออุบลรัตน์ร่วมเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่นกว่า 700 คน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่จังหวัดขอนแก่นและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นล้นพ้น
เวลาประมาณ 21:03 น. เสด็จพระราชดำเนินกลับ ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จกลับเรือนรับรองเขื่อนอุบลรัตน์
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
เนบิวลานายพราน (The Great Orion Nebula, M42, NGC1976)
บันทึกโดย : กล้องโทรทรรศน์ชนิดหักเหแสง ขนาดหน้ากล้อง 180 mm. ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
สถานที่ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น
วันที่ : 18 ธันวาคม 2567
เนบิวลาใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน (Orion Nebula, M42) อยู่ทางใต้ของเข็มขัดโอไรออนในกลุ่มดาวนายพราน ถือเป็นหนึ่งในเนบิวลาสว่างที่สุดและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,344 ปีแสง จัดเป็นเนบิวลาเปล่งแสง (Emission Nebula) ที่มีแสงสว่างในตัวเอง เกิดจากการเปล่งแสงของอะตอมของไฮโดรเจน เนื่องจากได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ภายในเนบิวลา
ดาวเสาร์ (Saturn)
บันทึกโดย : กล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร
สถานที่ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น
วันที่ : 18 ธันวาคม 2567
ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 6 ในระบบสุริยะ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,400 ล้านกิโลเมตร มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียม มีวงแหวนล้อมรอบ แบ่งออกเป็นวงแหวน A และวงแหวน B ในช่่วงปี พ.ศ. 2567 - 2568 นี้ เป็นช่วงที่ระนาบวงแหวนของดาวเสาร์เอียงทำมุมกับโลกน้อย จึงทำให้ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นวงแหวนดาวเสาร์ค่อนข้างบาง
วัตถุท้องฟ้าที่ทรงสังเกตการณ์
กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades, M45) เป็นกระจุกดาวเปิดที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด อยู่ห่างโลกประมาณ 400 ปีแสง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในพื้นที่ที่ไร้มลภาวะทางแสงรบกวน มักมองเห็นเป็นดาวฤกษ์สว่าง 7 ดวงเกาะกลุ่มกันอยู่ในบริเวณกลุ่มดาววัว (Taurus) หากบันทึกภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะพบว่ากระจุกดาวลูกไก่ ประกอบด้วยดาวฤกษ์จำนวนหลายร้อยดวง เกาะกลุ่มกันด้วยแรงโน้มถ่วงซึ่งกันและกัน
ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 5 ในระบบสุริยะ และมีขนาดใหญ่ที่สุด บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีประกอบด้วยแก๊สไฮโดรเจน ฮีเลียม มีเทน แอมโมเนียมไฮโดรซัลไฟด์ และน้ำ ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีมีสีสันและลวดลายต่าง ๆ มีพายุสีแดงที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เรียกว่า “จุดแดงใหญ่” และมีดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ 4 ดวง เรียกว่า ดวงจันทร์กาลิเลียน ประกอบด้วย ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น
หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 4 ของไทย
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน เต็มรูปแบบแห่งที่ 4 ของไทย ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับประชาชน และสถานศึกษาในท้องถิ่น สนับสนุนการบริการวิชาการดาราศาสตร์แก่ชุมชน การจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ไปสู่ประชาชนไทยอย่างทั่วถึง และทัดเทียมกัน
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 29 ไร่ บริเวณเทศบาลตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้ตัวเมือง การเดินทางคมนาคมสะดวก มีแสงรบกวนค่อนข้างน้อย สามารถจัดกิจกรรมบริการทางวิชาการดาราศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายหลักเพื่อให้บริการประชาชนในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และใกล้เคียง อาทิ ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เป็นต้น ทั้งยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่ใช้สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการดาราศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้านในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอีกด้วย
ภายในหอดูดาวประกอบด้วยส่วนบริการต่าง ๆ ได้แก่
- อาคารนิทรรศการ ให้บริการนิทรรศการทางดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม อาทิ ระบบสุริยะ การดูดาวเบื้องต้นและ ฤดูกาลทางดาราศาสตร์ ดาราศาสตร์ในหลายช่วงคลื่น การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์จากอุกกาบาต และนิทรรศการภาระกิจสำรวจดวงจันทร์ Mission to the Moon เข้าชมฟรี
- อาคารท้องฟ้าจำลอง ให้บริการท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร รองรับได้ 80 ที่นั่ง บรรยายการดูดาวโดยเจ้าหน้าที่ และฉายภาพยนตร์ดาราศาสตร์เสมือนจริง
- อาคารหอดูดาว ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ภายในโดมขนาดเส้นผ่า ศูนย์กลาง 20 ฟุต และติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีก 6 ตัว บริเวณระเบียงดูดาวชั้นดาดฟ้า ภายใต้หลังคาเลื่อนเปิด-ปิดได้
- ลานกิจกรรม สำหรับจัดกิจกรรม และเป็นพื้นที่เรียนรู้ภายนอกอาคาร
สำหรับวัน และเวลาทำการ เปิดให้บริการวันอังคาร - อาทิตย์ ท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ค่าธรรมเนียม นักเรียน/นักศึกษา 30 บาท บุคคลทั่วไป 50 บาท ส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์ไม่เสียค่าธรรมเนียม และมีกิจกรรมดูดาว (NARIT Public Night) ทุกวันเสาร์ 18:00 - 20:00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนในกำกับของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดบริการอย่างเป็นทางการแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา สำหรับแห่งที่ 5 อยู่ในระหว่างก่อสร้าง คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก
งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook: www.facebook.com/NARITpage, X : @NARIT_Thailand,
Instagram: @NARIT_Thailand, TikTok: NARIT_Thailand