เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย
(Dark Sky in Thailand)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้แสงสว่างเพิ่มขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะเป็นแสงสว่างที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้แสงสว่างอย่างสิ้นเปลืองและไม่ระมัดระวังส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ ทั้งด้านระบบนิเวศ พลังงาน ดาราศาสตร์ รวมถึงสุขภาพร่างกายโดยไม่รู้ตัว วีดีโอข้างต้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง The International Dark-Sky Association (IDA) และ Loch Ness Productions เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบของมลภาวะทางแสง พร้อมวิธีการอย่างง่ายสามวิธีในการช่วยลดมลภาวะทางแสง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานภาครัฐที่รณรงค์ให้ประชาชนใช้แสงสว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งผลเสียน้อยที่สุด เพื่ออนุรักษ์ท้องฟ้ายามค่ำคืนภายใต้ชื่อแคมเปญ “Dark Sky in Thailand” หรือใช้ชื่อภาษาไทยว่า “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” โดยมีเงื่อนไขว่าสถานที่นั้นต้องสามารถสังเกตเห็นดวงดาวในเวลากลางคืนได้อย่างชัดเจน อาจเป็นอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ส่วนตัว ตัวอย่างเช่น “เขตสงวนท้องฟ้ามืดอาโอรากิ แมคเคนซี” ประเทศนิวซีแลนด์ เขตสงวนท้องฟ้ามืดที่ประสบความสำเร็จ สามารถจัดบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กิจกรรมดูดาว/ถ่ายภาพในเวลากลางคืน ห้องพัก โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เทศกาลชมดาว และการบรรยายพิเศษ ทำให้เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างมาก