กิจกรรมที่ผ่านมา
ผู้บกพร่องทางการเห็น


NARIT จับมือบางกอกแอร์เวย์ส
ขยายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ สานฝันน้องๆ ผู้บกพร่องทางการเห็น
บินลัดฟ้าสัมผัสความหนาว ดูดาวยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

01 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น 02 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น

NARIT ร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ส ขยายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ผู้บกพร่องทางการเห็น จัดโครงการ “แม้มองไม่เห็นแสงจันทร์ แต่สัมผัสได้ถึงดวงดาว” นำคณะนักเรียน และครูจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เดินทางมาเรียนรู้ดาราศาสตร์ สัมผัสประสบการณ์จริงในการสังเกตวัตถุท้องฟ้า บนยอดดอยอินทนนท์ พื้นที่ที่มีฟ้าดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ระหว่างวันที่ 23-25 มกราคม 2567

ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ดาราศาสตร์” นับเป็นศาสตร์ที่ใช้จินตนาการทำความเข้าใจธรรมชาติ และจักรวาล ความบกพร่องทางการเห็นจึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้เรื่องราวดาราศาสตร์ และธรรมชาติรอบตัว การจัดกิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น ถือเป็นความท้าทายทั้งการออกแบบเนื้อหา ออกแบบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่เหมาะสม และก้าวข้ามอุปสรรคด้านการมองเห็น เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป

10 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น 11 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น

กิจกรรมนี้ต่อเนื่องมาจากการที่น้องๆ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ไปทำกิจกรรมดาราศาสตร์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เราจึงมีแนวคิดที่จะนำน้องๆ กลุ่มนี้ มาสัมผัสประสบการณ์การดูดาวจริง บนยอดดอยอินทนนท์ และมาทำกิจกรรมดาราศาสตร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นที่มาของโครงการ “แม้มองไม่เห็นแสงจันทร์ แต่สัมผัสได้ถึงดวงดาว” ทั้งนี้ NARIT มีความตั้งใจที่จะจัดกิจกรรมสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น เป็นโครงการนำร่องเพื่อต่อยอดขยายโอกาสทางการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับบุคคลผู้มีความบกพร่องทางกาย สุขภาพ หรือบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษอื่น ๆ  เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมบุคคลทั่วไป สอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินงานของเราที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ

นายประสงค์ สุบรรณพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ นับเป็นทริปประวัติศาสตร์ของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่ามาก น้องๆ สามารถไปต่อยอดในเรื่องการเรียน และการดำรงชีวิต ที่จะสามารถพูดคุยกับคนตาดีทั้งหลายได้ว่าเรื่องราวดาราศาสตร์เหล่านั้นเป็นอย่างไร ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับบางกอกแอร์เวย์ ที่มอบโอกาสให้น้องๆ ได้สัมผัสประสบการณ์การขึ้นเครื่องบินครั้งแรก ที่จะไปบอกเล่าต่อลูกต่อหลานของเขาในวันข้างหน้า และอีกประการหนึ่งที่ผมชื่นชมมากๆ คือทีมเจ้าหน้าที่ของ NARIT ที่ยอดเยี่ยมมากๆ สามารถทำให้คนตาบอดรู้เรื่องดาราศาสตร์ รู้กลุ่มดาวนั้นกลุ่มดาวนี้ ผมเองเป็นคุณครูสอนโรงเรียนเด็กปกติมาตลอดชีวิต 39 ปี มาอยู่โรงเรียนสอนคนตาบอดได้ 3 ปี ผมคิดว่าคุณครูของผมก็เป็นยอดมนุษย์แล้ว สอนเด็กตาบอดให้รู้หนังสือได้ ตอนนี้ผมมาเจอยอดมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งแล้ว คือทีมวิทยากรที่ NARIT ที่สอนเรื่องดูดาวให้กับเด็กที่ตาบอดได้ นับเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก ๆ

การมาเยือนเชียงใหม่ในครั้งนี้ เราพาน้องๆ เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 2 วันเต็ม วันแรกเดินทางสู่ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง  เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และความดันอากาศจากถุงขนม สัมผัสธรรมชาติ และละอองนำ้ตก บริเวณนำ้ตกวชิรธาร จากนั้นเข้าเยี่ยมชมหอดูดาวดาวแห่งชาติ เรียนรู้ และสัมผัสกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่าง ๆ สัมผัสและโอบฐานกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ รวมถึงห้องควบคุมกล้องโทรทรรศน์ และห้องปฏิบัติการของนักดาราศาสตร์  ช่วงค่ำเดินทางสู่ยอดดอย  เรียนรู้ และสัมผัสแบบจำลองหลุมดวงจันทร์ ก่อนสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าจริง อาทิ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดวงจันทร์ และเนบิวลาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่น น้องๆ เหล่านี้ ไม่ได้ตาบอด 100% ส่วนใหญ่สามารถเห็นได้ลางๆ สามารถแยกความสว่างของวัตถุได้ หากเป็นดวงจันทร์ ก็จะเห็นเป็นจุดสว่างใหญ่ หากเป็นดาวเสาร์จะเห็นแสงเป็นวงรีตามแนววงแหวน ส่วนดาวฤกษ์ หรือดาวเคราะห์ดวงอื่นก็เห็นเป็นจุดสว่างเล็กๆ 

03 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น 421671364 769439248559953 4791988758678512702 N

วันที่สองพาไปสัมผัสธรรมชาติ ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม เรียนรู้ระบบนิเวศเรือนยอดไม้ (Canopy Wlak) และกิจกรรม เด็ด ดม ชม ชิม สัมผัสความหลากหลายของพืชนานาพรรณ จากนั้นเดินทางสู่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เพื่อร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์ “ท้องฟ้าในมือฉัน” ภายในท้องฟ้าจำลอง ให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้การดูดาวเบื้องต้น รู้จักกลุ่มดาวบนท้องฟ้า กาแล็กซีต่าง ๆ ด้วยมือสัมผัสผ่านอุปกรณ์ทรงกลมท้องฟ้า ที่นำต้นแบบมาจากมหาวิทยาลัยวาเลนเซีย  และปิดท้ายด้วยกิจกรรม “เรียนรู้ระยะทางระหว่างดาวฤกษ์กับโลก” สัมผัสอุปกรณ์เปรียบเทียบภาพจินตนาการสิ่งที่มนุษย์มองขึ้นไปบนฟ้า กับตำแหน่งที่แท้จริงของดวงดาว

16 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น 17 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น

ท้ายสุดนี้ ขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ให้โอกาสและร่วมสนับสนุนกิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น “แม้มองไม่เห็นแสงจันทร์ แต่สัมผัสได้ถึงดวงดาว” ในครั้งนี้ ได้แก่ 
- บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส Bangkok Airways 
- บริษัท ชิชางคอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  Chi Chang Computer (Thailand)
- กลุ่มธุรกิจ TCP TCP Group

หมายเหตุ : ได้รับอนุญาตจากโรงเรียนให้เผยแพร่ภาพแบบเปิดเผยใบหน้า

07 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น 19 ค่ายฯ ผู้บกพร่องทางการเห็น