(Thai National Observatory)
การสร้างหอดูดาวระดับมาตรฐานโลก พื้นที่ก่อสร้างต้องมีความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง มากกว่า 2,000 เมตร เพื่อให้พ้นระดับฟ้าหลัว ปราศจากแสงรบกวน ท้องฟ้าใส และมีอากาศบางเบา เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านทัศนวิสัยท้องฟ้า ภูมิศาสตร์ และการเดินทาง “ดอยอินทนนท์” จึงเหมาะสมที่สุด สำหรับการสร้างหอดูดาวระดับมาตรฐานโลกในประเทศไทย หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดตั้ง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2547 NARIT จึงเริ่มต้นวางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของประเทศ ด้วยการสร้าง “หอดูดาวแห่งชาติ” แห่งแรกของไทย เริ่มก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2554 แล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2556
ด้วยความทันสมัย และมีทัศนวิสัยท้องฟ้าดีเยี่ยมทำให้หอดูดาวแห่งนี้มีนักดาราศาสตร์ และนักวิจัยจำนวนมากจากทั่วโลกเข้ามาเก็บข้อมูลศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ไม่น้อยกว่า 200 คืนต่อปี แม้ว่าหอดูดาวแห่งชาติจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ แต่ NARITยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าเยี่ยมชมในกิจกรรมเปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร
กล้องสะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน (Rithchey-Chretien) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยกระจกหลายชิ้น ทำจากแก้วบอโรซิลิเกต (Borosilicate) ที่มีอัตราการขยายตัวต่ำเมื่ออุณหภูมิโดยรอบมีการเปลี่ยนแปลง ผิวกระจกเคลือบด้วยอลูมิเนียม โครงสร้างกล้องมีความสลับซับซ้อน สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ได้มากถึง 8 ช่อง
กล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร
กล้องโทรทรรศน์สำหรับศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ และให้บริการทางวิชาการ สามารถส่องชมดาวเคราะห์ และวัตถุท้องฟ้าได้สวยที่สุดในไทย
อุปกรณ์วิทยาศาสตร์
Focal Reducer
อุปกรณ์เพิ่มมุมรับภาพ หรืออุปกรณ์ลดระยะโฟกัส เพิ่มความสามารถในการสังเกตการณ์ท้องฟ้าในมุมกว้าง ทำให้ได้มุมมองภาพที่เต็มประสิทธิภาพ สำหรับใช้งานร่วมกับกล้องถ่ายภาพซีซีดีแบบ 4K สามารถถ่ายภาพด้วยลำแสงที่ไม่ถูกบดบังที่มุมมองภาพ 15 ลิปดา (จากเดิมใช้ได้เพียง 7 ลิปดา) เมื่อใช้ร่วมกับกล้อง 4K ที่มีขนาด image scale 0.42 ฟิลิปดาต่อพิกเซล ทำให้มีกำลังการแยกภาพละเอียดอยู่ที่ 1.2 ฟิลิปดา ในช่วงความยาวคลื่น 400-800 นาโนเมตร
EXOhSPEC
EXOhSPEC หรือ Exoplanet high resolution spectrograph เป็นสเปกโตรกราฟความละเอียดสูงแบบ Echelle สำหรับศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ โดยใช้หลักการของความเร็วแนวเล็งที่สามารถนำไปใช้งานกับกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้ มีกำลังแยกของสเปกตรัมมีค่ามากกว่า 70,000 ระยะห่างระหว่างเส้นสเปกตรัมในแต่ละออเดอร์มากกว่า 30 พิกเซล ไฟเบอร์ที่ใช้สำหรับนำแสงเข้าสเปกโตรกราฟเป็นแบบสองหัว เพื่อเพิ่มความแม่นยำสำหรับการสังเกตการณ์ ออกแบบและพัฒนาโดยศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ NARIT
ULTRASPEC
อุปกรณ์ถ่ายภาพด้วยความเร็วสูงในระดับความเร็วมิลลิวินาที โดยสามารถบันทึกภาพประมาณ 200 ภาพต่อวินาที เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มีความไวแสงสูง สามารถถ่ายวัตถุท้องฟ้าที่มีความเข้มแสงต่ำและบันทึกเหตุการทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นรวดเร็ว เช่น การกระพริบแสงของดาวฤกษ์ การบังดาวฤกษ์ด้วยดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ เป็นต้น สร้างและพัฒนาโดย University of Sheffield และ University of Warwick
ARC 4K
อุปกรณ์ถ่ายภาพความละเอียดสูงระดับ 4K ขนาด 16 ล้านพิกเซล เนื่องจากมี Chip และ Filter กรองช่วงความยาวคลื่นแสงที่มีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับงานวิจัยดาราศาสตร์และการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการความละเอียดสูง
ห้องควบคุมกล้องโทรทรรศน์
สถานที่ปฏิบัติงานของนักดาราศาสตร์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ สั่งการและควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ ขนาด 2.4 เมตร และ 1 เมตร รวมถึงโดมกล้องโทรทรรศน์ ผ่านระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์ที่พัฒนาขึ้นโดยวิศวกรจากศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวและวิศวกรรมของ NARIT
ต้องการใช้งานกล้องโทรทรรศน์
ติดตามที่ https://indico.narit.or.th/
ต้องการเยี่ยมชม
ติดตามการเปิดรับสมัครกิจกรรม TNO Open House ได้ที่
TNO Open House