Thai National Radio Astronomy Observatory
ดำเนินการภายใต้ “โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุ และยีออเดซี” ระหว่าง ปี พ.ศ. 2560-2564 เพื่อขยายขีดความสามารถเชิงสังเกตการณ์ด้านดาราศาสตร์ ส่งเสริมการใช้ดาราศาสตร์ พัฒนาความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) นำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ พัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพกำลังคนในอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร วิศวกรรมซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ดิจิทัล ฯลฯ
กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร
เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุจานเดี่ยว แบบแนสมิธ-แคสสิเกรน ที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงสามารถสังเกตการณ์ได้ครอบคลุมทั่วท้องฟ้า โดยหมุนในแนวราบได้โดยรอบ 360 องศา และหมุนในแนวตั้งได้ 180 องศา ทำให้สามารถติดตามสังเกตการณ์เทหวัตถุต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ใช้ศึกษาเทหวัตถุในเอกภพ และปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องในช่วงคลื่นวิทยุ อาทิ ดาวเคราะห์ ดาวหางในระบบสุริยะ ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ ดาราจักรกัมมันต์ การก่อกำเนิด และการระเบิดของดาวฤกษ์ ดาวนิวตรอน กาแล็กซี หลุมดำ ฯลฯ
กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร
เพื่อการศึกษาวิจัยด้านยีออเดซี และธรณีวิทยา โดยใช้เทคนิคการวัดตำแหน่งที่เรียกว่า เครือข่ายการแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometer : VLBI) ของโลก เป็นหนึ่งในวิธีวัดตำแหน่งของแผ่นเปลือกโลกที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงศึกษาผลการเคลื่อนตัว หรือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของเปลือกโลก ที่มีผลกระทบต่อการเกิดภัยพิบัติบนพื้นโลก เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ฯลฯ
กล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส จะที่ติดตั้งในประเทศไทย ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
1. บริเวณหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่
2. บริเวณพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
3. บริเวณหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ต. เขารูปช้าง อ. เมือง จ. สงขลา (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
กล้องโทรทรรศน์วิทยุทั้งสองจะทำงานสนับสนุนกัน เพื่อการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ และยีออเดซี ทำหน้าที่เป็นสถานีเชื่อมต่อของภูมิภาค ร่วมสังเกตการณ์กับเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกลของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ทวีปออสเตรเลีย และเครือข่าย VLBI อื่นๆ