เกี่ยวกับโครงการ
กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาดาราศาสตร์ (Astro Challenge: ปริศนาดาราศาสตร์) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2563 เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่สนใจสมัครร่วม แข่งขันตอบปัญหาทางดาราศาสตร์ ทดสอบความรู้รอบตัวเรื่องดาราศาสตร์ นอกเหนือไปจากความรู้ ในห้องเรียน ที่ไม่ใช่ทางทฤษฎีหรือคำนวณ การแข่งขันรอบคัดเลือกจะคัดเลือกตัวแทนภูมิภาคละ 2 ทีม ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้รวม 8 ทีม เพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาดาราศาสตร์ระดับประเทศ (Astro Challenge: ปริศนาดาราศาสตร์) เกิดกระแสความตื่นตัวและได้รับความสนใจจากครู นักเรียนทั่วประเทศเป็น จำนวนมาก แต่ละครั้งมีนักเรียนจากทั่วประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมรอบคัดเลือก จำนวนไม่ต่ำกว่าพันคน NARIT จึงกำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่อง เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนไทยได้แสดง ความสามารถ กระตุ้นความใฝ่รู้ กระตือรือร้น สนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจ ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้อีกทางหนึ่ง
วัตถุประสงค์
1. ส่งเสริมให้เยาวชนไทย ศึกษา ค้นคว้า พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ผ่านการแข่งขันตอบปัญหาดาราศาสตร์
2. ส่งเสริมทักษะให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ ไหวพริบ ปฏิภาณ คิดร่วมกันอย่างมีเหตุผล และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ในเวลาที่จำกัด
3. สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยใฝ่รู้ดาราศาสตร์
กลุ่มเป้าหมาย
เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา
รูปแบบการแข่งขัน
การแข่งขันทดสอบความรู้รอบตัวเรื่องดาราศาสตร์ นอกเหนือไปจากความรู้ในห้องเรียน ที่ไม่ใช่ทางทฤษฎีหรือคำนวณ
เนื้อหาในการแข่งขัน
- การดูดาวเบื้องต้น กลุ่มดาว ปรากฏการณ์ ปฏิทินดาราศาสตร์
- นิทาน และตำนานที่เกี่ยวกับดาว ดาราศาสตร์พื้นบ้าน ทั้งไทยและนานาชาติ
- นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์
- การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ฟิสิกส์
- กล้องโทรทรรศน์และหอดูดาวชื่อดังทั่วโลก
- ข่าวดาราศาสตร์ / เหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์
- การสำรวจอวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ จรวด ดาวเทียม
- ระบบสุริยะ ดาวฤกษ์ วัตถุในห้วงอวกาศลึก
- โบราณดาราศาสตร์
- แฟนพันธุ์แท้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ช่วงเวลาจัดกิจกรรม
จัดกิจกรรมทุก ๆ 2 ปี
รอบคัดเลือก ช่วงเดือนมิถุนายน
รอบชิงชนะเลิศ ช่วงเดือนสิงหาคม
สถานที่จัดกิจกรรม
รอบคัดเลือก
จัดการแข่งขันในภูมิภาคต่าง ๆ กำหนดสถานที่แข่งขัน ณ จังหวัดที่ตั้งของหอดูดาวภูมิภาค ดังนี้
- ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.นครราชสีมา)
- ภาคกลาง (จ.ฉะเชิงเทรา)
- ภาคใต้ (จ.สงขลา)
*คัดเลือกตัวแทนภาค ภาคละ 2 ทีม เข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
รอบชิงชนะเลิศ
จัดการแข่งขัน ณ เวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ. นนทบุรี
เงื่อนไขการสมัคร
- สมัครเป็นทีม ทีมละ 3 คน
- ผู้สมัครทั้ง 3 คนจะต้องอยู่ในสังกัดโรงเรียนเดียวกัน และกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา
- แต่ละโรงเรียนสามารถสมัครได้มากกว่า 1 ทีม
- เปิดรับสมัครทางออนไลน์
ติดตามการเปิดรับสมัครได้ทาง https://www.facebook.com/NARITpage